บริจาค
Your Hometown Music Media - TEMPO.wav
ศิลปะ วัฒนธรรม
Chiang Mai, Thailand
+8
+7
คัดลอกลิงค์ไปยังคลิปบอร์ดแล้ว
2ผู้ติดตาม
สื่อดนตรีที่ไม่รอศูนย์กลาง ส่งต่อเรื่องราวประวัติศาสตร์ดนตรีจากโฮมทาวน์ สู่สังคมโลก
74,063.93บาท ที่ระดมทุนได้
37% จากทั้งหมด 200,000 บาท เป้าหมาย
25ผู้สนับสนุน
+23
45วันคงเหลือ
หากแคมเปญไม่ถึงเป้าหมายการระดมทุน จะเกิดอะไรขึ้นกับการบริจาค?
การลดหย่อนภาษี ไม่ได้
เกี่ยวกับองค์กร

ถ้าไม่มีสื่อดนตรีในต่างจังหวัด ประวัติศาสตร์ดนตรีในโฮมทาวน์จะเลือนหายไป

มาร่วมกันผลักดัน Your Hometown Music Media เพื่อสนับสนุนให้ TEMPO.wav บันทึก รักษา และส่งต่อเรื่องราวของซีนดนตรีที่ถูกมองข้ามโดยอัลกอริธึม — เริ่มต้นจากเชียงใหม่ โฮมทาวน์ของเรา

สวัสดีจาก เทมโป้เวฟ (TEMPO.wav), เชียงใหม่

หากคุณพอจำได้ (หรือเกิดทัน) ในช่วงปี 2543-2553 (2000-2010) ช่วงเวลาก่อนยุคสตรีมมิง ที่ดนตรีไม่ได้มีชีวิตอยู่บนไทม์ไลน์เฟสบุ๊คหรือฟีดโซเชียลมีเดีย ดนตรีเคยมีชีวิตอยู่ในสถานที่จริง บนเวทีจริง ผ่านผู้คนจริง ๆ บาร์ แกลอรี่ ร้านแผ่นเสียง สเปซสร้างสรรค์และสถานที่จัดแสดงดนตรีอินดี้รุ่นบุกเบิกอย่าง Minimal Gallery (นิมมานซอย 13), สุดสะแนน, ขันอาษา ไม่ใช่แค่ “สถานที่จัดงาน” แต่เป็น Third Places หรือ “พื้นที่ที่สาม” ที่วัฒนธรรม-ซีนดนตรีอินดี้ในเมืองเชียงใหม่ถือกำเนิดขึ้น

ช่วงเวลาคราวเดียวกับที่บทเพลง “นิมมานเหมันต์” ของ Harmonica Sunrise พูดถึง ช่วงเวลาที่วัฒนธรรมร่วมสมัยผ่านพื้นที่เหล่านี้ของเชียงใหม่ถูกส่งออกสู่โลกภายนอกผ่านเสียงเพลง

ผู้คนในเวลานั้นไม่ได้แค่เสพดนตรี — พวกเขาออกมาเจอกัน รวมตัวกัน และร่วมกันสร้างสรรค์ พวกเขารู้จักชื่อกันและกัน เริ่มตั้งวงดนตรี เขียนเพลงกันเอง และพาดนตรีของพวกเขาทัวร์ในบ้าน (โฮมทาวน์) กลุ่มคนเหล่านี้เองที่บ่มเพาะซีนดนตรีอินดี้ร่วมสมัยของเชียงใหม่ในยุคแรกเริ่ม – และเป็นจุดให้กำเนิดศิลปินอย่าง วง Hum, Acapella 7, ETC., Polycat, Solitude Is Bliss จนไปถึงเขียนไขและวานิช เรียงตามลำดับของพลวัตดนตรีที่เคลื่อนไหวไปตามกาลเวลา

แต่ถ้าไม่มีใครบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ ในภาษาที่โลกจะเข้าใจ — เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า?

ประวัติศาสตร์ซีนดนตรีในประเทศไทยยังคงหล่นหาย ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบ และไม่ถูกรับรู้ในระดับสากล จึงไม่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของโลก สิ่งนี้ไม่ได้เกิดแค่ในเชียงใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงในโฮมทาวน์ (เมืองรอง) อย่างปัตตานี ขอนแก่น มหาสารคาม และอีกมากมาย

นี่คือเหตุผลของแคมเปญ Your Hometown Music Media

เพื่อสนับสนุนก้าวต่อไปของ TEMPO.wav — สื่อดนตรีที่ไม่รอศูนย์กลาง ในรูปแบบ Slow Media จากเชียงใหม่

เราชื่อว่า ดนตรีที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัลกอริธึม แต่มันมีชีวิตอยู่ในบาร์ใต้ดิน, พื้นที่ที่สาม, เวทีกลางอ่างเก็บน้ำ, ภาพฟิล์ม, หนังสือ, และ ในบ้านของคนดนตรี

เราออกเดินทางเพื่อตามหา บันทึก และเก็บรักษาเรื่องราวของซีนดนตรีท้องถิ่น (โฮมทาวน์) ที่มักจะถูกมองข้ามจากกระแสหลัก

เราสร้างสรรค์ zine แบบสองภาษา, นิตยสารดนตรีเชิงลึก, รายการวิทยุ, รายการดนตรี, และงานคอนเสิร์ตสเกลเล็กที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างใกล้ชิด เรากำลังสร้าง คลังความทรงจำวัฒนธรรมดนตรีที่มีชีวิต — เริ่มต้นจากเชียงใหม่ และโฮมทาวน์ต่อไป ไม่ว่าที่ใดในโลก

และตอนนี้, เราต้องการแรงสนับสนุนจากทุกคน เพื่อทำให้โปรเจคของเราไปต่อได้

จริง ๆ ก็คือ เพื่อให้เราไปต่อได้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้ เรามีเวลาก่อน 5 มิถุนายนเพื่อระดมทุนและต่อลมหายใจให้กับองค์กร

การซัพพอร์ตแคมเปญ Your Hometown Music Media จะทำให้เราสามารถเปิดตัวงานด้านสิ่งพิมพ์ของ TEMPO.wav ดังนี้

🌀 .wav (un)zine (เวฟอันซีน) จำนวน 3 ฉบับ

  • ฟรีซีนรายเดือน แบบสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ที่จะบันทึกชีพจรของซีนดนตรีเชียงใหม่แบบเรียลไทม์ ดิบสด และซื่อตรง
  • ทำหน้าที่เป็นเหมือนออฟไลน์โซเชียลมีเดีย (offline social media) ของเชียงใหม่
  • ในเล่มจะมีแผนที่และรวบรวมงานดนตรีที่จะจัดในเดือนนั้น ๆ ข่าวสารซีนดนตรี ดูดวงดนตรีโดยผู้เฒ่าเสียงเพลง แนะนำเพลงโดยดีเจและศิลปินท้องถิ่น แผนที่ไกด์สำหรับการตระเวนดูดนตรีในเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ
  • จัดทำทุก ๆ เดือน แจกในเชียงใหม่เท่านั้น // 1,000 ฉบับต่อเดือน
  • คอนเซ็ปต์: a Scene you can hold. หรือ "ซีนที่ทุกคนสัมผัสได้"

📚 .wav magazine (เวฟแม็กกาซีน) จำนวน 1 ฉบับ

  • นิตยสารภาษาอังกฤษที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่าในภาษาสากลจากโฮมทาวน์ทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากเชียงใหม่
  • คอนเซ็ปต์: (Music) History In Your Hands "ประวัติศาตร์ดนตรีที่คุณถือไว้ในมือ" ทั้งจับต้องได้ และร่วมเขียนได้
  • เป็นวารสารเชิงลึก เต็มไปด้วยการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลเก่าและร่วมสมัย บทสัมภาษณ์ศิลปินเชิงลึก และเบื้องหลังซีนดนตรีที่ไม่เคยได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลัก
  • จัดทำ 2 เล่มต่อปี // 150 ฉบับต่อเล่ม
  • แต่ละฉบับจะมีของสะสม เช่นเดโม่หายาก สมุดภาพที่รวบรวมความทรงจำจากประวัติศาสตร์ดนตรีหน้าหนึ่ง ฯลฯ (จำกัดเพียง 50 ชุด)

🎁 ผู้สนับสนุนทุกคนจะได้รับของตอบแทนตามระดับ เช่น zine, magazine, merch, ชื่อเครดิต หรือพื้นที่โฆษณา

เพื่อน ๆ อาจรู้สึกว่าชื่อโปรเจคนี้มันคุ้น ๆ นั่นเป็นเพราะ Your Hometown Music Media เป็นการสานต่อปรากฎการณ์ที่เพื่อน ๆ คนดนตรีได้จุดชนวนไว้ ณ เชียงใหม่ นั่นเอง

ปีที่แล้ว (2024) My Hometown Project ทำให้เราเห็นว่าดนตรีไม่ใช่แค่ความบันเทิง — แต่มันคือความทรงจำ, อัตลักษณ์, และความเป็นคอมมูนิตี้ และเรื่องราวจากเมืองรอง/โฮมทาวน์ก็ควรได้รับการรับฟัง ไม่แพ้เมืองหลัก ๆ ของโลก

ระหว่างทางนั้นสื่อดนตรี TEMPO.wav (เทมโป้เวฟ) ก็ถือกำเนิดใหม่ในรูปแบบที่เต็มตัวมากขึ้น เราทำรายการวิทยุทุกอาทิตย์​ และเริ่มต้นขุดค้นประวัติศาสตร์ดนตรีของเมือง ผ่านคอมมูนิตี้ของเรา

ปลายปีเดียวกัน เทศกาล High HO Chiang Mai ก็ได้เปลี่ยนเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นแผนที่มีชีวิตของซีนดนตรี — กับ 80 วงดนตรีออริจินัล ที่แสดงในกว่า 20 สถานที่ทั่วเมือง

ถ้า My Hometown Project คือตัวจุดชนวนการมีสื่อในโฮมทาวน์เพื่อทำให้ผู้คนเห็นว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้นสำคัญ Your Hometown Music Media ก็คือการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงในรูปแบบสิ่งพิมพ์ เราเริ่มต้นที่เชียงใหม่ และหวังว่าจะมีภาคต่อ ๆ ไปในโฮมทาวน์ของทุกคน

นี่คือก้าวต่อไปของขบวนการกระจายอำนาจทางนิเวศดนตรี (Decentralizing the music scape)

และหากคุณรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของซีน

หากคุณอยากเห็นโฮมทาวน์ของคุณมีพื้นที่บนแผนที่วัฒนธรรมโลก

หากคุณเชื่อว่า “ดนตรี” เป็นมากกว่าความบันเทิง แต่คือประวัติศาสตร์

นี่คือโอกาสของเรา ที่จะส่งเสียงร่วมกันอีกครั้ง

#yourhometownmusicmedia #tempowav #wavmagazine #wavunzine #decentralizethemusicscape #timeistempo #musiccitizens

ผลกระทบทางสังคม

ซีนดนตรีอินดี้ในโฮมทาวน์บ้านเรา เป็นซีนดนตรีที่น่าจับตาในโซนเอเชีย แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ เท่าที่ควร ทำให้การมีอยู่ของซีนดนตรีอินดี้กำลังจะเลือนหายไป...

สตรีมมิ่งกลบความทรงจำ ฟีดโซเชียลหายไปในพริบตา สื่อกระแสหลักสนใจแต่เมืองใหญ่

หากเราไม่เริ่มบันทึกไว้ตั้งแต่ตอนนี้ — สิ่งเหล่านี้จะหล่นหายไปตามเวลา

จะดีกว่านี้มั้ยถ้าเราได้มีส่วนร่วมในการส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ไปในระดับโลก

ทำไมซีนดนตรีโฮมทาวน์ถึงกำลังหายไป?​ และทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ

แคมเปญนี้คือการปกป้องสิ่งที่ยังเหลืออยู่ และสร้างทางเดินให้กับสิ่งที่กำลังจะมา

1. เศรษฐกิจความสนใจ (Attention Economy) กำลังทำลายความลึกซึ้งของทุกสิ่ง

เรากำลังอยู่ในยุคที่สื่อดนตรี (และทุกสื่อ) ถูกออกแบบมาเพื่อยอดคลิก ไม่ใช่เพื่อการต่อยอดวัฒนธรรม เรื่องราวถูกย่อให้สั้นลง เหลือแค่การพาดหัว เนื้อหาถูกออกแบบมาเพื่อยอด Engagement ไม่ใช่ความเข้าใจลึกซึ้ง การเขียนเชิงวารสารศาสตร์ดนตรี (Music Journalism) เชิงลึกจึงค่อยๆ เลือนหายไป

TEMPO.wav กำลัง “ทวงคืนความสนใจ” เหล่านั้นคืน สร้างสื่อที่ช้า จับต้องได้ และคงอยู่เหนือกาลเวลา

2. โฮมทาวน์ไม่เคยอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ดนตรีที่เรารับรู้ส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นโดยอิงจากเมืองหลวง หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมดนตรีระดับประเทศและ/หรือระดับอินเตอร์ ในขณะที่ซีนดนตรีในโฮมทาวที่น่าสนใจอย่าง เชียงใหม่ มหาสารคาม ปัตตานี ขอนแก่น กลับไม่เคยถูกพูดถึง (เท่าที่ควร)

หากไม่มีการบันทึกไว้ เรื่องราวเหล่านี้จะเลือนหายไปจากทั้งความทรงจำ

TEMPO.wav ต้องการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อเชื่อมโยงประวัติศาสตร์โฮมทาวน์กับประวัติศาสตร์ดนตรีร่วมสมัยในระดับอินเตอร์ เราต้องการให้เรื่องราวจากโฮมทาวน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาในซีนดนตรีโลก

3. สื่อดิจิทัลไม่อาจทดแทนคอมมูนิตี้ในโลกจริง

ดนตรี​(เคย)มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในสถานที่จริง (มากกว่านี้) แต่วันนี้มันกระจัดกระจายอยู่ในเพลย์ลิสต์ หายไปในอัลกอริทึม และแยกขาดกันในฟีดส่วนตัวของแต่ละคน ซีนดนตรีเชียงใหม่เคยมี Third Place (พื้นที่ที่สาม) ที่แข็งแรง — แต่ทุกวันนี้ปฏิสัมพันธ์ทางดนตรีส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ กระจายตัวกันไปหมด

ซีนดนตรีต้องการพื้นที่จริง พื้นที่ออฟไลน์เพื่อเติบโต ความมีส่วนร่วมที่แท้จริงเกิดขึ้นยากมากในโลกออนไลน์อย่างเดียว

นั่นคือเหตุผลที่ TEMPO.wav ต้องการเน้นการสร้างสรรค์ zine สิ่งพิมพ์, แผนที่ที่ทุกคนถือได้, งานดนตรีพบปะในโลกจริง ใน Third Place ต่าง ๆ ที่ดนตรี(เคย)มีชีวิต

4. ดนตรียังไม่ถูกมองว่าเป็น “โครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม”

ดนตรีไม่ใช่แค่กิจกรรมยามว่าง — แต่มันสามารถเป็นวัฒนธรรม ตัวตน/อัตลักษณ์ และเศรษฐกิจ ของเมือง ๆ นั้นได้ แต่ในโฮมทาวน์อย่างเชียงใหม่ ดนตรียังถูกมองว่าเป็น “ทางเลือก” ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน

แม้ศิลปิน ดีเจ ผู้จัด จะทุ่มพลังในการรักษาซีนดนตรีไว้ แต่ความพยายามเหล่านี้มักไม่ถูกมองเห็นในเชิงนโยบาย แหล่งทุน หรือสื่อกระแสหลัก หมายความว่ายังคงไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนสำหรับเศรษฐกิจดนตรีท้องถิ่น และนั่นคือสิ่งที่ My Hometown Project เคยตั้งคำถามไว้ — ศิลปินไม่สามารถอยู่ได้ สถานที่เล่นดนตรีไม่มีการคุ้มครอง และซีนดนตรีกำลังหายไปแบบไร้การซัพพอร์ต ขาดความต่อเนื่อง

TEMPO.wav เชื่อว่า "โครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม” เป็นสิ่งที่ควรได้รับการกระจายแหล่งทุนให้มาถึง ถูกเก็บรักษา และส่งต่อ การบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสิ่งพิมพ์ ไม่ใช่แค่ให้พื้นที่กับศิลปินจากโฮมทาวน์ แต่ยังช่วย “สื่อสารคุณค่า” ของพวกเขา เพื่อในอนาคต ดนตรีจะถูกมองว่าเป็น “สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตได้” ทั้งในระดับนโยบายและชีวิตประจำวัน

และในระยะยาว ดนตรีจะกลายเป็นหนึ่งในรากฐานของอนาคตของเมืองของเรา — อนาคตของโฮมทาวน์ได้ต่อไป

อัปเดต
ยังไม่มีการอัพเดทในขณะนี้