ก่อเกิดและเดินทาง : จาก คอส. ถึง มอส.
ปี 2523 ห้องเรียนเล็กๆ ภายในสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกดัดแปลงให้เป็นสำนักงานของ คอส. หรือโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ที่นี่มักจะคับแคบและคึกคักทุกครั้งที่มีคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศมารวมตัวกันอยู่พร้อมๆ กัน อาจเป็นเพราะด้วยยุคสมัยแห่งการแสวงหาและความท้าทายเป็นกระแสคลื่นตื่นตัวไปทั่วโลกพร้อมกับสถานการณ์ทางสังคมภายในบ้านเมืองของเรา ที่นำพาให้เกิดการตื่นตัว อยากรู้ อยากเห็น อยากทำ ด้วยความปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น จากกิจกรรมเล็กๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย สู่หมู่บ้าน ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ได้เห็น ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ความเป็นไปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในหมู่บ้าน ชุมชน ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจเดิมๆ ของตนเอง
จุดเริ่มต้นเล็กๆ ก่อเป็นสายธารที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมากกว่า 42 ปี จากโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) ถึงมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ปี 2529 เราได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มอส. ได้ก่อสร้างอาคารมูลนิธิอาสาสมัครขึ้นที่ ซอย รัชดาภิเษก 14 และได้แบ่งพื้นที่ของอาคารให้กับองค์กรสาธารณะกุศลได้มาใช้พื้นที่ในราคาประหยัดเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ สหกรณ์เครดิตยูเนียนนักพัฒนา ประชาไท สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม เป็นต้น อีกทั้งยังจัดให้มีห้องประชุมเพื่อให้องค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมอีกด้วย
เราให้คุณค่ากับกระบวนการเรียนรู้ และหวังได้ว่าจะสามารถปลูกจิตวิญญาณอาสาสมัครเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นในหัวใจของคนหนุ่มสาว/คนรุ่นใหม่ผ่านการทำงานอาสา คุณค่าที่สำคัญที่สุดที่ มอส. เชื่อว่าผู้ที่ที่ผ่านกระบวนการของ มอส. ไปแล้ว สิ่งจะได้จากเรา คือ “จิตสำนึกอาสาสมัคร” จิตสำนึกแห่งการรับและแบ่งปัน ด้วยหัวใจ ด้วยเจตนาอันดีงามต่อเพื่อนมนุษย์ อย่างน้อยคุณค่านี้จะนำไปสู่การตรวจสอบตนเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์กับใคร หรือสิ่งที่เรากระทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์ทั้งต่อตัวเราเองและคนอื่นหรือไม่? หากไม่แล้วเราจะทำอย่างไร? .. สำนึกเหล่านี้จะคอยนำทางเราไปสู่ความจริง ความดี และความงามในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข อีกทั้งมอส. เชื่อว่าหากสังคมใดมีความเป็นธรรม สังคมนั้นย่อมมีสันติภาพ และเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ร่วมกันได้
เรายังคงทำหน้าที่ตามความคิดความเชื่อของเราอย่างต่อเนื่องผ่านงานในหลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคม โดยยังคงมีกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือ
“เยาวชนคนหนุ่มสาว/คนรุ่นใหม่” กับการทำงานสร้างสรรค์สังคม อาทิ
● โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
● โครงการพลเมืองอาสา
● โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมสร้างชุมชนยั่งยืน(อาสาคืนถิ่น)
● โครงการอาสาสมัครนักวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม(PAR)
● โครงการอาสาสมัครนักสื่อสารสิทธิมนุษยชน
● โครงการครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก
● โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
ซึ่งจำนวนอาสาสมัครเต็มเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีทั้งหมดประมาณ 1,000 คน ซึ่งยังไม่นับรวมอาสาสมัครนอกเวลาจากโครงการพลเมืองอาสา และอาสาสมัครประเภทอื่นๆ ที่มีจำนวนอีกหลายพันคน โครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ในลุ่มน้ำโขง (The Collaboration for the Young Generation in Mekong Region) ซึ่งทำงานประสานความร่วมมือกับกลุ่มเยาวชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการทำงานอาสาสมัครและการขับเคลื่อนประเด็นงานอาสาสมัครในประเทศของตนเองและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการทำงาน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา มอส. ได้ผลิตคนที่มีจิตใจอาสาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายรูปแบบและช่องทาง
มอส. “สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีสำนึก ความรู้ และทักษะ ในการขับเคลื่อนสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม สันติ ผ่านงานอาสาสมัคร” เรามองตนเองเป็นเหมือนสะพานสายรุ้งทางสังคมที่เชื่อมโยงคนหนุ่มสาว/คนรุ่นใหม่ จากเมืองสู่ชนบท และจากชนบทสู่เมือง ให้เปิดโลกทัศน์ตนเอง ให้ได้มีโอกาสสัมผัส เรียนรู้ เข้าใจ และแบ่งปันประสบการณ์ ความคิด ชีวิต และความใฝ่ฝันที่ดีงามต่อสังคมด้วยความเคารพซึ่งกันและกันในความแตกต่างหลากหลาย นำไปสู่หัวใจที่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงตนเองและผู้อื่น ชีวิต ชุมชน สังคม โลก ธรรมชาติและสรรพสิ่ง