Carenation เริ่มจากแนวคิดที่อยากให้พวงหรีดมีหน้าที่มากกว่าการให้กำลังใจกับครอบครัวที่สูญเสีย เราไม่อยากให้ประโยชน์หยุดอยู่แค่การร่วมแสดงความเสียใจที่วัด แต่อยากให้พวงหรีดนั้นส่งต่อความสุขให้คนอื่นได้อีกมากมาย และเป็นสะพานบุญที่ผู้ส่งจะได้ทำให้กับผู้วายชนม์
ชื่อพวงหรีดสานบุญ by Carenation เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการส่งต่อเป็นสะพานบุญผ่านผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มจากสิ่งแวดล้อม เพราะเรามองเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ใน 1 ปีประเทศไทยใช้พวงหรีดหลายล้านพวง คิดเป็นเงินหลักหลายพันล้านบาท และดอกไม้ส่วนใหญ่นั้นต้องนำเข้าจากประเทศจีน หรือมาเลเซียเป็นหลักเพราะประเทศไทยไม่ได้ปลูกเอง สร้าง carbon footprint มหาศาล นอกจากนั้นพวงหรีดส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังมีส่วนประกอบของโฟมซึ่งเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็นไอเดียที่อยากจัดทำพวงหรีดที่ทำจากกระดาษรีไซเคิลและป่าปลูกเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยเรายังเล็งเห็นว่ามีคนมากมายที่ไร้งาน และไม่มีทั้งความสามารถและโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มเติม ดังนั้นเราจึงออกแบบธุรกิจที่ทำให้พวงหรีดทุกพวกเกิดกาจการจ้างงานคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีงานมีรายได้ และที่สำคัญ Carenation ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรการกุศล โรงพยาบาล และมูลนิธิต่าง ๆ โดยเราให้ลูกค้าเลือกได้เองว่าจะบริจาคให้องค์กรไหน เพราะเราเห็นว่ายังมีองค์กรดี ๆ อีกมากมายที่มีเงินไม่เพียงพอในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่กิจกรรมนั้น ๆ เป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่สังคมต้องการเป็นอย่างมาก หรือในบางครั้งการบริจาคเงินก็เป็นเพียงแค่การทำตามกระแสนิยม ซึ่งเมื่อกระแสเหล่านั้นหมดลง เงินสนับสนุนที่ไหลเข้าองค์กรก็หยุดตามไปด้วย ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลง หรือถูกยกเลิกไปเสียอย่างนั้น
Carenation จึงต้องการเป็นส่วนหนึงที่ช่วยสนับสนุนงบส่วนนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่อิงกับกระแสนิยม โดยทุกการดำเนินงานของเรานั้นยังทำอย่างโปร่งใส และทุกการสั่งซื้อจะมีใบเสร็จการบริจาคส่งมอบให้ลูกค้าทุกครั้ง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเงินของท่านได้ถึงมือของผู้รับที่ท่านต้องการจริง ๆ
เชิงสิ่งแวดล้อม *
Carenation ต้องการดำเนินธุรกิจแบบ Zero Waste อย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้มีส่วนหลงเหลือไปทำลายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้ กิจการพวงหรีดเพื่อสังคม จึงเป็นอีกทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยสถิติการตายของคนไทยอยู่ที่เฉลี่ยวันละกว่า 1,000 คน
และในพิธีศพ มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือพวงหรีดดอกไม้
ซึ่งถ้าในประเทศไทยมีงานศพประมาณวันละ 500 งาน แล้วแต่ละงานใช้พวงหรีดดอกไม้สดอย่างต่ำ 10 พวง ดังนั้น 1 วัน จะเท่ากับใช้พวงหรีดไปถึง 5,000 พวง และ 1 เดือน จะใช้พวงหรีดถึง 45,000 พวง
พอครึ่งปีผ่านไป ก็จะหมดพวงหรีดไปแล้วกว่า 270,000 พวง
และเมื่อ 1 ปีผ่านไป พวงหรีดที่เหลือจากการใช้งานก็จะกลายเป็นขยะ ที่เพิ่มปริมาณขึ้นไปเป็น 540,000 พวง
การใช้ดอกไม้สด ถึงแม้จะย่อยสลายได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ในบรรดาของประกอบพวงหรีดอื่น ๆ ที่ใช้ยึดดอกไม้สดอย่างเข็มหมุด โฟมกระดาษ และเชือกฟาง ก็คงไม่ต้องบอกว่า มันกลายเป็นขยะจำนวนมากขนาดไหน
Carenation จึงใช้คอนเซ็ปต์พวงหรีดกระดาษมาทดแทนปัญหาขยะจากดอกไม้สด เนื่องจากพวงหรีดเป็นสิ่งที่ใช้ไม่กี่วันแล้วทิ้งไป ทำให้เสียดายทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสีย โดยที่พวงหรีดกระดาษของเรายังไม่มีซากของสิ่งเหลือใช้ใด ๆ จากการประกอบพวงหรีดทั้งสิ้น
เชิงชุมชนหรือสังคม *
Carenation เห็นว่าปัญหาการว่างงานในชุมชนเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข เราจึงต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโดยการสร้างงานให้กับชุมชน และแรงงานที่ขาดทักษะ
การออกแบบพวงหรีดของเราจึงเอาโจทย์นี้เป็นตัวตั้ง โดยพวงหรีดทุกพวงถูกออกแบบให้แยกชิ้นส่วนเป็นชิ้น แล้วมาประกอบได้ทีหลัง แทนที่จะออกแบบให้ประกอบเสร็จจากเครื่องจักรในโรงงานทั้งพวง ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ต้นทุนเราสูงขึ้นมาก แต่การแยกชิ้นนี้กลับทำให้เราสามารถมอบงานให้ชุมชนได้ โดยเราออกแบบให้พวงหรีดนั้นประกอบง่าย คนไม่มีทักษะ เด็ก หรือคนชราก็ประกอบได้ จึงเป็นรายได้เสริมสำหรับคนที่ต้องการมีอาชีพ และมีรายได้เพิ่มเติมไปจุนเจือครอบครัว
มีทีมงานคนหนึ่ง ชื่อ พี่น้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในคนจากชุมชนที่เราภูมิใจจะยกมาเป็นตัวอย่าง เพราะพี่น้อยเป็นแม่ค้าขายหมูปิ้งข้างถนน ที่เคยทำงานมีเงินเก็บ แต่สามปีที่แล้วก็มาพบว่าลูกคนเล็กเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จากรายได้เดิมที่คิดว่าพอเพียง แต่กลับต้องนำมาจ่ายค่ารักษาลูกหมด ซึ่งพี่น้อยเป็นคนขยัน โดยตื่นตั้งแต่ตีสามทุกวันเพื่อมาเตรียมของขาย แต่ว่าต่อให้พี่น้อยจะขยันมากกว่าเดิมแค่ไหน คนซื้อหมูปิ้งก็มีจำนวนเท่าเดิม คนเดินถนนก็มีจำนวนเท่าเดิม และที่สำคัญคือหลังเที่ยงก็จะไม่มีใครเดินซื้อแล้ว ดังนั้นการที่พี่น้อยจะหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อมารักษาลูกจึงเป็นเรื่องยากมาก แต่พอมาเริ่มทำพวงหรีด ซึ่งพี่น้อยมาทำหลังจากที่ขายของข้างถนนเสร็จ พี่น้อยก็มีรายได้เสริม สามารถส่งไปรักษาลูก และจุนเจือครอบครัวได้ เรื่องราวแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่พวกเราภูมิใจ และอยากสร้างเรื่องราวแบบนี้ให้เกิดมากขึ้นในสังคมไทย