สวัสดีจากเมืองเชียงใหม่ เมืองที่ว่ากันว่าอยู่สบาย ชีวิตดี มีความสุข แต่บางครั้งก็เติบโตยาก เมืองที่ว่าเป็นบ้าน เป็นโฮมทาวน์ ของผู้คนที่หลากหลาย แต่ทำไมหลาย ๆ คนก็ยังต้องย้ายออกจากบ้านเพื่อไปแสวงหาโอกาสที่อื่น?
เราชื่อ “เฟนเดอร์” ธนพล จูมคำมูล สมาชิกวงดนตรี Solitude Is Bliss และ View From The Bus Tour เราเป็นคนเชียงราย ที่มาอยู่เชียงใหม่เพราะเชื่อว่าเมืองเชียงใหม่มีโอกาสให้เรา 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราต่อสู้เพื่อชีวิตในฐานะศิลปินอิสระในวงการดนตรีอินดี้ และเราประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง แต่การเติบโตได้ในเชียงใหม่ก็ยังมีเพดานบางอย่าง
มองลึกลงมาอีกนิด ในมุมของคนทำงานสร้างสรรค์ ศิลปิน นักออกแบบ นักดนตรี ก็ยังต้องต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตในสายอาชีพเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกันกับเพื่อนมนุษย์ในสายงานอื่น ๆ เรายังมีคำถามว่าทำไมแม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองดนตรี ที่ให้กำเนิดศิลปินแนวหน้าในระดับประเทศ-ภูมิภาค-นานาชาติได้ แต่ส่วนใหญ่ยังได้ค่าแรงน้อยกว่านักดนตรีกรุงเทพฯถึง 2-3 เท่าตัว? เรามีพื้นที่แสดงดนตรีคุณภาพในเมืองเพียงพอหรือยัง? ทำไมศิลปินที่มีเพลงเป็นของตัวเองยังหาฐานผู้ฟังในบ้านตัวเองยาก? น้อยคนที่จะไปถึงฝั่งฝันอย่างเขียนไขและวานิช, POLYCAT, หรือวง ETC. (บางวงเหล่านี้ก็ยังต้องย้ายไปเติบโตในกรุงเทพเลย)
เราตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้มาตลอด คำตอบที่ได้ก็คือ ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้น ถ้าประเทศเรากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจริง ๆ ซะที
ก่อนจะกระจายอำนาจ สิ่งที่เมืองเล็ก (ที่ไม่เล็ก) อย่างเชียงใหม่ขาดก็คือ สื่อของตัวเอง แพล็ตฟอร์มที่เราสามารถส่งเสียงเกี่ยวกับบ้านของเราได้จากเสียงของเราจริง ๆ เราเลยมีไอเดียที่จะสร้าง My Hometown Project ขึ้นมา
My Hometown Project // โปรเจคสื่อดนตรีที่ต้องการส่งสารถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราวาดหวังให้สิ่งนี้เป็นสื่อกลางหรือ “แพล็ตฟอร์ม” ที่จะส่งต่อเสียงเพลงและเรื่องราว ที่จะมาชวนคิด ชวนพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นท้องถิ่นนิยม ผ่านมุมมองของ “บ้าน” // “hometown” // เมืองเชียงใหม่นั่นเอง
My Hometown Project จะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ
- My Hometown Session // รายการสั้นบนยูทูป สามารถรับชมได้ทุกเพศทุกวัย เป็นสื่อกลางที่ส่งสารเรื่องราวของ “hometown” เชียงใหม่ ผ่านบทสนทนากับ เพื่อน ๆ ในแวดวงนักสร้างสรรค์ 5 คนในเชียงใหม่ เราจะชวนเพื่อนมาพูดคุยกันในรายการเกี่ยวกับประเด็นท้องถิ่นนิยม สลับผสานกับบันทึกการแสดงดนตรี (live session) ของวง View From The Bus Tour 6 บทเพลง
- Shows Around My Hometown // การเดินสายแสดงดนตรีสด 10 โชว์ ใน 1 เดือน ในละแวกบ้าน ตามสถานที่ต่าง ๆ ในเชียงใหม่ที่ชูโรงเรื่องของดนตรีสด (music venue)
|| เพื่อทำให้โปรเจคนี้เกิดขึ้นได้
เราอาศัยพลังจากทีมนักสร้างสรรค์ในเชียงใหม่กว่า 20 ชีวิต
โดยงบประมาณทั้งหมด จะส่งมอบให้คนทำงาน ครีเอทีฟ โปรดักชั่น ทั้งในส่วนของรายการ การผลิตสื่อ และการแสดงดนตรี ในค่าแรงมาตรฐานที่เหมาะสมและควรจะเป็น
อีกทางหนึ่งก็เพื่อสื่อสารถึงการให้มูลค่าที่เป็นธรรมให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ด้วย โดยเฉพาะงานลักษณะนี้ในพื้นที่ "นอกกรุงเทพฯ"
ทำไมต้องสื่อดนตรี? ทำไมต้องทำเป็นรายการ?
→ ดนตรีพอปและการเมือง // มีพลังบางอย่างที่เมื่ออยู่คู่กันแล้วทำให้การสร้างความรับรู้มีผลมากขึ้น
ดนตรีของวิวฟรอมฯ มีจุดยืนและการส่งต่อข้อความที่คาบเกี่ยวระหว่างการนำเสนออุปนิสัยทางดนตรีและการสร้างความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมโดยการพูดถึงความเชื่อมโยงของประสบการณ์ปัจเจกชนต่อการเมืองและบริบทสังคม
ที่ผ่านมาเราเคยมีความพยายามในการใช้สถานะของเราในการสื่อสารประเด็นสังคม-การเมืองกับกลุ่มแฟนเพลงที่ติดตามและสังคมในวงกว้าง แต่ก็พบว่าบางทีการพูดโต้ง ๆ หรือนำเสนออะไรออกไปตรง ๆ ก็ไม่ได้ทำให้น่าฟัง กลับกลายเป็นว่าช่วงเวลาที่เราได้พูดคุยกับผู้ฟังระหว่างการแสดงดนตรีโฟล์คเดี่ยวต่างหากที่ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกร่วมกับประเด็นที่พยายามจะสื่อสารมากกว่า
เราเลยอยากผสมสองศาสตร์นี้เข้าด้วยการในรูปแบบรายการ ที่ออกแบบมาให้รับชมได้ทุกเพศทุกวัย เพื่อชวนสังคมพูดคุยถึงประเด็นยาก ๆ อย่างการกระจายอำนาจได้ในทางตรง แต่ก็ยังมีบรรยากาศที่ปลอดภัยและเฟรนลี่ ชวนให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อไปในสังคม
ทำไมต้องเดินสายโชว์ในละแวกบ้าน?
จากการกระจายอำนาจที่ไม่ทั่วถึง ปัญหาที่พบในนิเวศดนตรีมายาวนาน คือเรื่องของค่าแรงนักดนตรีในเชียงใหม่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (น้อยกว่ากรุงเทพถึง 2-3 เท่าตัว) และพื้นที่ในการเผยแพร่งานของศิลปินที่ทำเพลงตัวเองมีจำกัด หลายครั้งศิลปิน หรือ เจ้าของพื้นที่ อาจจะยังไม่รับรู้ถึงศักยภาพตรงนี้
วงวิวฟรอมฯ จะปฏิบัติตัววงเองเป็นดั่งนักดนตรีอาชีพที่เล่นประจำในเมือง โดยรับค่าแรงมาตรฐานที่ 500-600 บาทต่อสมาชิกวง นับเป็นการแสดงจุดยืนเพื่อสื่อสารถึงมาตรฐาน (ที่ควรจะเป็น) ค่าแรงขั้นต่ำของนักดนตรีเชียงใหม่
เราหวังว่า Shows Around My Hometown จะเชื่อมโยง...
- ศิลปินและร้าน (music venue) เข้าด้วยกัน
- ศิลปินที่ทำเพลงของตัวเองได้รับรู้ถึงโอกาสในการเข้าถึงแฟนเพลงผ่านพื้นที่ในเมืองตัวเองได้
- ส่วนร้านเองก็อาจได้เห็นโอกาสจากการเปิดพื้นที่ครั้งนี้ให้ดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ ๆ จากพลังของศิลปิน
- ผู้ฟังให้ได้เข้าถึงศิลปินออริจินัล (ศิลปินที่ทำเพลงเอง) ในบ้านตัวเอง
และ
3. ใช้วงวิวฟรอมฯ เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวทางดนตรีที่อยากเดินทางมาเสพดนตรีที่เชียงใหม่ในช่วง low season และสื่อสารความเป็นเมืองดนตรีของเชียงใหม่ไปในตัวอีกด้วย
My Hometown Project จบแล้วยังไงต่อ?
ถ้าโปรเจคนี้สำเร็จ เราหวังว่ารูปแบบสื่อดนตรีชิ้นนี้ จะสามารถส่งต่อให้กับศิลปินนักดนตรีคนอื่น ๆ ที่อยากจะสื่อสารประเด็น hometown ของตนเองได้ในตอนต่อ ๆ ไป ทำให้เกิดการพูดคุยถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจที่ต่อเนื่อง ยั่งยืนและสร้างแรงกระเพื่อมได้จริง ๆ ในอนาคต